วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อันตราย! การใช้ยาเป็นเหมือนดาบสองคม

อันตรายจากการใช้ยา




ยาก็เปรียบเสมือนดาบสองคม คือมีทั้งคุณ และโทษ อาจกล่าวได้ว่าไม่มียาขนานใดเลยที่ไม่มีพิษ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ยาเสมอ
อันตรายจากการใช้ยามีสาเหตุใหญ่ 3 ประการ คือ การใช้ยา (ผู้ใช้ไม่มีความรู้), ลักษณะของยาไม่ดี (เนื่องจากการผลิต, และการเก็บ), พยาธิสภาพของผู้ใช้ยา

1. อันตรายจากการใช้ยา เนื่องจาก
1.1 ใช้ยาผิด
     ไม่ถูกคน ยาคุมกำเนิดใช้เฉพาะผู้หญิง ถ้าผู้ชายเอาไปใช้จะไม่ได้ผลในทางคุมกำเนิด ยาสำหรับเด็กถ้าผู้ใหญ่เอาไปกิน ทำให้ได้ยาไม่ครบขนาดเกิดอันตรายคือโรคไม่หายขาดถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็จะทำให้เชื้อดื้อยา เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดมีระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เจริญเติบโตไม่เต็มที่ เช่นการทำลายยา, การกำจัดยา การตอบสนองต่อยาจึงไม่เหมือนของผู้ใหญ่ ดังนั้น การให้ยาบางชนิดจะต้องให้ด้วยความระมัดระวัง เช่น ยาซัลฟา, วิตามินเค, คลอแรมเฟนิคอลและเตตราซัยคลิน เวลาจะใช้ยาต้องดูให้ดีด้วยว่า จะใช้กับใคร ผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือคนแก่

     ไม่ถูกโรค เช่น เป็นหวัด กินยาปฏิชีวนะ, ตัวร้อนก็กินยาปฏิชีวนะ โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุจริงๆ ของโรค มักทำให้ใรคไม่หายขาด เชื้อดื้อยา

     ไม่ถูกวิธี ยาเหน็บช่องคลอดบางชนิดทำเป็นรูปยาเม็ดแบน ถ้าไม่ทันสังเกตเอาไปใช้กินก็ไม่ได้ผลในการรักษา ยาหยอดตาต้องสะอาดปราศจากเชื้อ ถ้าเอายาหยอดหูไปหยอดตาแทน อาจเป็นอันตรายต่อตาได้ ยาที่กินหลังอาหาร ส่วนมากระคายเคืองกระเพาะ ถ้าเอาไปใช้กินก่อนอาหาร ทำให้เป็นแผลในกระเพาะได้

     ไม่ถูกขนาด โดยทั่วไปฤทธิ์ของยาจะขึ้นอยู่กับขนาดของยา ถ้าได้รับยาน้อยเกินไป จะไม่ได้ผลในการรักษา ถ้าได้รับยามากเกินไปก็จะเกิดอาการพิษ อาการพิษส่วนใหญ่จะเกิดจากใช้ยาเกินขนาด พบ 70-80% ของอาการพิษทั้งหมด บางครั้งลืมกินยาไป 1 ครั้ง (เช่นยาคุมกำเนิดหรือยาปฏิชีวนะ) ไม่ต้องกินงวดต่อไปเป็น 2 เท่า เพราะไม่มีประโยชน์ในการรักษา แต่กลับจะมีโทษคือเป็นพิษ

     ระยะเวลาไม่เพียงพอหรือมากเกินไป ยาปฏิชีวนะถ้าให้ยาเพียง 1-2 วันยังไม่พอเพียงที่จะทำลายเชื้อโรค ทำให้เชื้อที่เหลือดื้อยา ต้องใช้ยาที่แรงกว่าเดิม ซึ่งมักมีอันตรายมากกว่าและราคาแพงกว่า

     ใช้ยาไม่ถูกช่วงเวลา ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้จะมีฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ง่วงนอนมาก ถ้ากินในระหว่างขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอาจเกิดอุบัติเหตุได้

1.2 อันตรายจากการถอนยาบางชนิดทันที
จะทำให้เกิดโรคข้างเคียงหรือโรคใหม่ตามมา ตัวอย่างเช่นเพรดนิโซโลน ถ้าให้ติดต่อกันนานๆ ทำให้ต่อมหมวกไตหยุดสร้างฮอร์โมนพวกนี้หรืออาจฝ่อไปเลย เมื่อหยุดยาทันทีร่างกายจะขาดฮอร์โมนพวกนี้อย่างกระทันหัน ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ร่างกายขาดน้ำ ขาดเกลือ ทางแก้ไขคือ เมื่อได้ผลในการรักษาเต็มที่แล้ว ต้องค่อยๆ ลดขนาดของยาลงทีละน้อยจนสามารถถอนยาได้

1.3 อันตรายจากการใช้ยารวมกันหลายขนาน หรือรวมกับอาหารบางชนิด
การใช้ยาหลายๆ ตัวในการรักษาโรคในเวลาเดียวกัน บางครั้งก็ไม่เกิดอันตรายรุนแรง บางครั้งยาอาจต้านฤทธิ์กันเอง ทำให้ไม่มีผลในทางรักษา และเกิดดื้อยา ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกันระหว่างเพนิซิลลิน กับเตตราซัยคลิน บางครั้งการใช้ยา ร่วมกันอาจเสริมฤทธิ์กันเองทำให้ยาออกฤทธิ์เกินขนาดจนเกิดอาการพิษถึงตายได้
ยาบางอย่างอาจเกิดผลเสียได้ เมื่อผู้ใช้ยาได้รับของแสลง เช่น อาหารบางอย่าง เครื่องดื่ม เหล้า และบุหรี่ คนที่ใช้ยากดประสาทเป็นประจำถ้าดื่มสุราด้วย จะยิ่งทำให้ฤทธิ์การกดประสาทมากขึ้น อาจถึงขันสลบและตายได้ คนไข้อาการหืดหอบที่ได้รับธีโอฟิลลีน และดื่มน้ำชา กาแฟ ร่วมด้วย จะเพิ่มฤทธิ์การกระตุ้นประสาท ทำให้นอนไม่หลับ ตื่นตกใจง่าย

2. อันตรายจากตัวยา
แม้เราจะใช้ยาอย่างถูกวิธี, ถูกขนาดแล้วก็ตาม ถ้ายาที่ใช้ไม่มีคุณภาพในการรักษาจะก่อให้เกิดพิษหรือแพ้ยาได้ เช่น

2.1 เนื่องจากการเก็บ
ยาที่ผลิตได้มาตรฐานจากโรงงาน ถ้าเก็บไม่ถูกวิธีจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพหรือเสียไป เกิดผลเสียต่อผู้ใช้ เช่น ยาประเภทชีวสาร ตัวอย่างเช่น วัคซีน ต้องเก็บในตู้เย็น ถ้าเก็บในตู้ธรรมดายาจะเสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปใช้ จะไม่ได้ผลหรือโรคบางโรคถ้ารักษาไม่ทันการอาจตายได้ ยาส่วนมากไม่ควรถูกความร้อน เพราะทำ ให้ยาเปลี่ยนสภาพ เช่น เตตราซัยคลิน เก็บไว้นานๆ หรือถูกความร้อนและแสงจะเสียเร็วเปลี่ยนสีจากสีเหสืองเป็นสีน้ำตาล ถ้ากินจะเกิดอันตรายต่อไต ปัสสาวะมีโปรตีน (ไข่ขาว) คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองกระเพาะอาหารมาก
ยาปฏิชีวนะมีอายุการใช้จำกัด ถ้าเก็บไว้นานเกินไป คุณภาพลดลง ส่วนพิษเพิ่มขึ้น เพราะฤทธิ์การทำลายเซลของร่างกายจะเพิ่มขึ้น
แอสไพรินถ้าถูกความชื้น, แสง, ความร้อน ทำให้เปลี่ยนสภาพเป็นกรดซาลิซัยลิค มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง ไม่ได้ผลในการ รักษาและยังเกิดกระเพาะทะลุอีกด้วย

2.2 เนื่องจากการผลิต
อันตรายที่สำคัญยิ่งในบ้านเราคือ ยาหลายชนิดที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควรอาจเกิดเนื่องจากใช้วัตถุดิบไม่เข้ามาตรฐาน ขบวนการผลิตไม่ถูกต้อง นอกจากนี้พบว่ายาหลายชนิดมีการปะปนของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้ผู้ใช้ยาได้รับเชื้อโรคอื่นเข้าไปโดยไม่รู้ตัว นอกจากโรคเดิมจะไม่หายแล้วยังเพิ่มโรคอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาน้ำเชื่อม หรือยาเม็ดที่มีน้ำตาลหรือแป้งจะเป็นอาหารอย่างดีให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโต
ตำรับยาที่ใช้ไม่เหมาะสม เป็นยาสูตรผสมหลายๆ ตัวในตำรับเดียว ทำให้เกิดยาตีกัน ตัวอย่าง คาโอลินและเพคติน ถ้าใส่นีโอมัยซินด้วยยา 2 ตัว แกจะดูดซับยาตัวหลังไว้ ทำให้นีโอมัยซินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้

ถ้าวัตถุที่ใช้ในการผลิตมีคุณภาพต่ำนอกจากจะทำให้ยาไม่ได้มาตรฐานแล้ว อาจมีวัตถุอื่นปนปลอมออกมา เช่น โลหะหนักที่เป็นพิษ ถ้ามีตะกั่วปนมาทำให้กล้ามเนื้อเปลี้ย หรือถ้ามีปรอทปนมาก็จะเกิดอันตรายต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการอัมพาต ชาไม่มีความรู้สึก
ยาที่ผลิตจากขบวนการผลิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น การอบยาไม่แห้งพอ ยาขมเกินไปจะทำให้ได้ยาที่เสียเร็ว ขึ้นรา เก็บได้ไม่นาน บางครั้งโรงงานยาต้องรับคืนหรือเรียกเก็บยาเหล่านี้ไปผลิตซ้ำใหม่ เช่น เติมสีให้ฉูดฉาด เติมหลายๆ สี แต่งกลิ่นและรสให้เข้มขึ้นเพื่อกลบรสยาเดิมแล้วนำออกมาขายใหม่ในราคาถูก คนที่นำไปใช้จะไม่รู้เลยว่ายานั้นเสื่อมสภาพ เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง ขนาดยาที่ได้มาตรฐานเมื่อใช้ผิดยังเกิดอันตรายร้ายแรง ถ้าเจอยาเสื่อมสภาพโดยไม่รู้ตัว รวมกับการใช้ยาไม่ถูกต้อง อันตรายก็ยิ่งเกิดมากขึ้น เป็นหน้าที่สำคัญของเภสัชกร ผู้ทำการผลิตและควบคุมคุณภาพในโรงงาน จะต้องใช้จรรยาบรรณของตนเองควบคุมคุณภาพยาให้เข้ามาตรฐานรวมทั้งผู้ที่ซื้อมาขายและผู้ที่ใช้ยาควรเลือกซื้อยาจากโรงงานที่ไว้ใจได้ และพยายามหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อที่มีสีสันฉูดฉาด หรือยาสูตรผสมหลายๆ ตัว

3. พยาธิสภาพของผู้ใช้ยาและองค์ประกอบทางพันธุกรรม
ยาบางชนิดถ้าให้กับคนบางคน จะได้ผลดีในการรักษา ไม่มีอาการพิษใดๆ แต่ถ้านำมาใช้กับคนบางคนหรือบางเชื้อชาติ กลับมีอาการพิษขึ้นมาได้ อาการพิษที่เกิดขึ้นนี้พบว่าเนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีการตอบสนองตัวยาผิดไป ตัวอย่างคนนิโกร ขาดเอ็นซัยม์ที่จะทำลายยาไอโซไนอาซิด ถ้ากินยานี้ในขนาดเท่าคนปติ จะแสดงอาการพิษออกมาเกิดประสาทอักเสบ, นอนไม่หลับ คนบางคนถ้าได้รับยาแก้ไข้มาลาเรีย ชื่อ ไพรมาควีน จะเกิดโลหิตจาง เพราะเม็ดโลหิตแดงแตกได้ อันตรายจะเกิดกับคนบางคนเท่านั้น
ในคนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับหรือไต จะมีความสามารถในการขับถ่ายยาลดลง ต้องระวังการใช้ยาอื่นๆ ยิ่งขึ้น

สรุป อันตรายจากการใช้ยาจะก่อให้เกิดพิษ ดังต่อไปนี้
     1. แพ้ยา

     2. อาการข้างเคียงหรือฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากจะมีผลในการรักษา ยังมีฤทธิ์ที่ไม่ต้องการ โดยปกติอาการนี้จะไม่เป็นอันตรายมากนัก

     3. การติดยา ยาบางชนิดถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เป็นเวลานานๆ ร่างกายจะติดยา ถ้าหยึดยาจะเกิดอาการผิดปกติขึ้น ยาที่มีผลทางนี้มากที่สุดคือยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ มอร์ฟีน, บาร์บิตูเรท, แอมเฟตามีน, ยากดประสาท, กล่อมประสาท, ระงับประสาท เอพีซี ฯลฯ

     4. ดื้อยา ที่พบมากที่สุด คือ ยาปฏิชีวนะ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องใช้ผิดๆ จะก่อให้เกิดอันตราย ตัวย่างหนึ่งคือ เชื้อที่ถูกทำลายไม่หมดจะพัฒนาตัวเองจนสามารถต่อต้านยาตัวเก่าได้ เมื่อใช้ยาตัวเดิมในคราวต่อมาจึงทำลายเชื้อไม่ได้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่ ยากดประสาทถ้าใช้ไปนานๆ ร่างกายจะเคยชินต่อยา ต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดขนาดมากเกินไปจนเป็นพิษได้

     5. พิษของยา เกิดเมื่อได้รับยาเกินขนาด พิษของยาโดยมากจะเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา แต่เป็นฤทธิ์ในระดับที่รุนแรงกว่าถึงขั้นเป็นพิษ พอจะสรุปได้ดังนี้
5.1 ยาบางอย่างเมื่อกินแล้วทำให้เกิดอาการไข้ ทำให้คิดว่าโรคกำเริบ ถ้าหยุดยาสัก 2-3 วัน อาการไข้จะหายไปเอง
5.2 เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดและส่วนประกอบของเลือด ยาคลอแรมเฟนิคอล, อินโดเมทธา­ซีน, เฟนิลบิวตาโซน, ไดแลนติน และยารักษาโรคมะเร็ง จะยับยั้งการทำงานของไขกระดูก ทำให้ทั้งเม็ดเลือดแดงและขาวลดอย่างมาก ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย โลหิตจางถ้าเกิดเฉียบพลันจะตายได้ ยาไพรมาควีน ทำให้เม็ดโลหิตแดงสลายตัวได้ง่ายจะทำให้เกิดโลหิตจางได้ อะมิโดพัยริน และไดพัยโรน พบว่ามีผลต่อส่วนประกอบของเลือดอย่างมาก
5.3 ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการทางสมอง เช่นการใช้แอมเฟตามีนทำให้ปวดหัว สมองถูกกระตุ้นเกินควรจนนอนไม่หลับ กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ชัก ส่วนยากดประสาท พวกบาร์บิตูเรท ถ้าใช้ไปนานๆ ทำให้เกิดอาการง่วงซึม, อาการเศร้า, อยากฆ่าตัวตาย
5.4 ผลต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือด เกิดจากยากระตุ้นหัวใจ, ยาแก้หอบหืด ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
5.5 อาการหูหนวก หูตึง จากการใช้กานามัยซิน, สเตร๊ปโตมัยซิน, นีโอมัยซินทำลายไต หรือลดการทำงานของไต กลุ่มยาซัลฟาอาจตกตะกอนในไต ทำให้ไตอักเสบ ทางแก้ไขคือดื่มน้ำมากๆ เวลากินยา ยาฟีนาซีติ, กานามัยซิน, สเตร็ปโตมัยซิน จะทำให้ไตเสื่อม
5.6 เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น เพร็ดนิโซโลน แอสไพริน, เด๊กซาเมธาโซน, เฟนิลบิวตาโซน, อินโดเมธาซีน ถ้ากินตอนท้องว่าง และกินบ่อยๆ จะทำให้เป็นแผลได้ ถ้าคนเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบอยู่แล้วจะทำให้อาการกำเริบ
5.7 ความพิการต่อทารกหลังคลอด ยาหลายชนิดที่แม่กินระหว่างตั้งครรค์เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน, ยาไดแลนติน (รักษาโรคลมชัก), ยาธาลิโดไมด์, จะทำให้เด็กที่คลอดออกมามีความพิการต่างๆ เช่นมือกุด, แขนด้วน, เพดานและริมฝีปากแหว่ง แม่จะกินยาอะไรระหว่างตั้งครรภ์ต้องนึกถึงลูกเสมอ



หากบทความนี้เป็นประโยค รบกวนกดแชร์ด้วยนะครับ

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือสนใจผลิตภัณฑ์
ติดต่อ โค้ชเกมส์
Mobile : 092-645-4256
Line ID : kp156





ไม่มีความคิดเห็น:

Promotion