“10
พฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยที่พบบ่อย”
ยารักษาโรคเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิต
แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง
ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาของคนไทยที่พบบ่อย ได้แก่ การแพ้ยา
ใช้ยาเสื่อมคุณภาพ ใช้ยาเกินขนาด หรือการได้รับปริมาณยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม เช่น
มากไป หรือน้อยไป และการใช้ยาไม่ถูกกับโรค
เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้
ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจและพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของตัวผู้ป่วยเอง
ในอีกมุมหนึ่งนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า
ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาของผู้ป่วยอาจเกิดจากระบบสาธารณสุขและการให้บริการทางเภสัชกรรมที่ทำได้ไม่ทั่วถึง
โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างจังหวัด
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนอัตรากำลังของเภสัชกรประจำโรงพยาบาลอยู่มาก
ข้อมูลจาก
ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ และนายกสภาเภสัชกรรม
เปิดเผยว่า
ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของตัวผู้ป่วยว่า
อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเข้าใจไม่ถูกต้อง หรือความเชื่อแบบผิด ๆ
ของผู้ใช้ยา โดยกล่าวถึง “10 พฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยที่พบบ่อยในคนไทย”
ได้แก่
1.ปรับขนาดยาเองตามใจชอบ
ด้วยความเชื่อที่ว่ารับประทานยามากไม่ดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็หยุดยาเอง เช่น
บางคนความดันเลือดสูง พอรับประทานยาแล้วความดันลดลง ก็งดยาเองไม่ยอมรับประทานต่อตามแพทย์สั่ง
ความดันก็จะสูงขึ้นอีกหรือยาบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ
ซึ่งต้องรับประทานให้หมดตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยบางคนพอรับประทานไปได้ระยะหนึ่ง
อาการหายไปก็หยุดยาเอง ผลคือเกิดเชื้อดื้อยาขึ้น ครั้งต่อไปต้องใช้ยาที่แรงขึ้น
เป็นต้น หรือในทางตรงข้ามเชื่อว่ารับประทานยามากแล้วหายเร็ว จึงเพิ่มขนาดยาเอง
ผลคือความดันอาจลดลงต่ำจนเกิดอันตรายได้
2.นำยาของคนอื่นมาใช้
ด้วยความเอื้อเฟื้อจากเพื่อนบ้าน หรือคนในบ้านเดียวกัน
เมื่อฟังว่ามีอาการเหมือนกัน ก็ขอยาที่เพื่อนใช้มาทดลองใช้บ้าง
โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าอาการที่เหมือนกันนั้นอาจมาจากสาเหตุที่ต่างกัน
ซึ่งนอกจากโรคไม่หายแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้ยา
หรือเกิดอาการข้างเคียงจากยาอีกด้วย
3.ไม่พร้อมฟังคำอธิบายจากเภสัชกร
พฤติกรรมนี้พบบ่อยมากเวลาผู้ป่วยมารับยาที่ห้องยาตามสถานพยาบาล
ผู้ป่วยมักจะรีบกลับบ้าน ไม่สนใจว่าเภสัชกรจะอธิบายวิธีใช้อย่างไรเพราะเข้าใจว่าอ่านฉลากเองได้
แต่เมื่อกลับไปบ้านแล้วมีข้อสงสัยวิธีการใช้ ก็ไม่ทราบจะถามใคร
ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจเปลี่ยนชนิดของยาหรือเปลี่ยนขนาดที่เคยใช้อยู่เดิม
ก็อาจไม่ทราบเพราะเคยใช้อยู่อย่างไรก็ใช้ในขนาดเดิมนั้น ไม่ได้อ่านฉลากยาให้ละเอียด
หรือบางครั้งรับประทานยาเดิมที่แพทย์สั่งหยุดแล้วควบไปกับยาใหม่อีก
ทำให้ได้ยาเกินขนาด
หรือบางครั้งยามีอาการข้างเคียงที่เภสัชกรจะบอกให้ทราบล่วงหน้าเพื่อเป็นการสังเกตอาการ
หรือไม่ต้องกังวลเมื่อเกิดอาการดังกล่าว แต่ไม่มีโอกาสบอกเพราะผู้ป่วยไม่พร้อมรับฟัง
4.เก็บยาไม่ถูกต้อง
เมื่อรับยามาจากสถานพยาบาลหรือซื้อยามาแล้วทิ้งไว้ในรถซึ่งจอดกลางแดด
หรือเข้าใจว่ายาทุกชนิดควรเก็บไว้ในตู้เย็น หรือในช่องแข็ง
ทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุ ประสิทธิภาพยาลดลง
5.ไม่ดูวันหมดอายุเวลาซื้อยา
ทุกครั้งที่ซื้อยาต้องหาดูวันหมดอายุที่แผงหรือขวดยา หรือหลอดบรรจุยา
ให้มั่นใจว่ายาที่ซื้อไปยังไม่ถึงวันหมดอายุ อย่างน้อยที่สุด 6 เดือนถึง 1 ปี
6.ลืมรับประทานยา
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาจำนวนมากมักลืมรับประทานยามื้อกลางวันบ่อยที่สุด
หรือมักลืมรับประทานยาก่อนอาหาร ซึ่งยาบางอย่างจำเป็นต้องรับประทาน
ก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพราะยาจะถูกดูดซึมดีตอนท้องว่าง
หรือยาบางชนิดเพื่อให้ออกฤทธิ์พอดีเวลาอาหาร
7.ใช้ยาไม่ถูกต้อง
โดยเฉพาะยาที่มีเทคนิคพิเศษในการใช้ ทำให้ใช้ยาไม่ได้ผล เช่น
ยาพ่นป้องกันการจับหืด ซึ่งมีชนิดต่าง ๆ มากมาย เป็นต้น
8.ไม่นำยาเก่ามาด้วยเวลามารักษาตัวในโรงพยาบาล
ทำให้บางครั้งไม่ได้รับยาที่รับประทานต่อเนื่องเพื่อรักษาโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิม
แต่ครั้งนี้มารับการรักษาอาการอื่น แพทย์เองก็ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรอยู่ก่อน
9.ชอบไปรับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล
ทำให้ได้รับยาซ้ำซ้อน บางครั้งยามีปฏิกิริยากัน
อาจเสริมฤทธิ์กันหรือทำให้ฤทธิ์ยาลดลง
10.เชื่อว่าการใช้ยาดีกว่าการป้องกันการเกิดโรค
คนส่วนใหญ่ชอบที่จะได้รับยาจากแพทย์เพื่อรักษามากกว่าการรับฟังคำแนะนำการดูแลรักษาตัวเพื่อป้องกันการเกิดโรค
ซึ่งแท้จริงแล้วการป้องกันการเกิดโรคย่อมดีกว่า
หรือถึงแม้รับประทานยาเพื่อรักษาโรคเรื้อรังอยู่แล้วก็ไม่ระวังดูแลตนเอง เพราะ
คิดว่าหากมีอาการมากขึ้นก็เพิ่มขนาดยาเข้าไปอีก ลืมคิดไปว่ายามีทั้งคุณและโทษ
ไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือหากต้องใช้ยาก็ต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ที่กล่าวมาเป็นเพียงพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่พบบ่อยในคนไทย
ซึ่งผู้ป่วยและผู้ใช้ยาจะต้องช่วยกันดูแลตนเอง หากไม่เข้าใจหรือมีปัญหาจากการใช้ยา
ควรขอคำปรึกษาจากเภสัชกร เพื่อลดปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยา
โดยเฉพาะยาที่มีเทคนิคพิเศษ และยารักษาโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาหลายชนิด
แหล่งข้อมูล
เภสัชกรวิพิน กาญจนการุณ
นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)
หากบทความนี้เป็นประโยค รบกวนกดแชร์ด้วยนะครับ
ติดต่อ โค้ชเกมส์
Mobile : 092-645-4256
Line ID : kp156
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น